วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

๓๐๘.ตำนานกว๊านพะเยา อู่น้ำแห่งเมืองพะเยา

  ในเรื่องกว๊านพะเยานี้ พระเดช

พระคุณหลวงพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ได้ให้ทัศนะไว้ ในหนังสือประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมเมืองพะเยาไว้ถึง ๒ เรื่อง ดังนี้

เรื่องที่ ๑

“เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกเอี้ยง อาศัยอยู่ที่ไม้ขอนสักต้นหนึ่งบนดอยจอมทอง แล้วบินไปหนองน้ำเพื่อกินอาบทุกวัน

วันหนึ่ง เมื่ออาบน้ำแล้วก็บินไปจับอยู่ไม้ต้นหนึ่งใกล้ที่อยู่ของตน แล้วแผ่ปีกและหางอยู่ที่นั้น ขณะนั้นมีเหยี่ยวตัวหนึ่งมาตีกินนกเอี้ยงเป็นอาหาร

ครั้นพระโพธิสัตว์ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญู แล้วมาฉันจังหันที่ช่างทองตำบลเขาจอมทอง ท่านก็เทศนาให้พระอานนท์ว่า “ดูกรอานนท์ ตำบลนี้เป็นป่าช้าของตถาคตแห่งหนึ่งแลเหตุการณ์นี้สระนี้ทุ่งนี้ จึงได้ชื่อว่า หนองเอี้ยงซึ่งเรียกตามนามนกเอี้ยงนั้นแล”

โดยมีรายละเอียด ดังนี้

คราวเมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าเสวยพระชาติเป็นพญานกเอี้ยงสีทอง นำบริวารออกหากินอยู่ในแถบเมืองพะเยาอยู่ ด้วยความเป็นพระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญเพียรบารมีอยู่ เมื่อมีโอกาสก็จะหลีกออกจากฝูงบินเดี่ยวเที่ยวไปมาผู้เดียว เพื่อแสวงหาความสงบเพื่อสมณธรรม นกเอี้ยงพระโพธิสัตว์ได้บินลงมากินและอาบน้ำ ณ สระน้ำใหญ่อยู่เป็นประจำวัน
วันหนึ่ง เมื่อพระโพธิสัตว์ดื่มกินและอาบน้ำจากหนองน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็บินขึ้นไปจับอยู่กิ่งไม้ใหญ่ต้นหนึ่งใกล้ที่อยู่ของตน แล้วเริ่มใช้จงอยปากทำความสะอาด และพักผ่อนอิริยาบถอยู่โดยการแผ่ปีกและหางตากลม เพื่อให้แห้งสบายตัว
ขณะนั้นได้มีเหยี่ยวใหญ่ตัวหนึ่ง บินโฉบมาข้างหลังลงมาจิกกินนกเอี้ยงโพธิสัตว์นั้นเป็นอาหาร พระโพธิสัตว์เห็นดังนั้นก็เจริญเมตตาสมาธิ กำหนดอิริยาบถลมหายใจเข้าออก ไม่มีความอาฆาตแค้นในเหยี่ยวตัวนั้น พญานกเอี้ยงพระโพธิสัตว์ได้มาตาย ณ บริเวณหนองน้ำดังกล่าว
เวลาล่วงไปตราบนานเท่านานครั้นพระโพธิสัตว์เจ้า ได้บำเพ็ญเพียรภาวนาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ทรงดำริที่จะตั้งมั่นพระศาสนาไว้ทั่วโลก โดยเสด็จไปในที่ต่าง ๆ ทั้งแว่นแคว้นน้อยใหญ่ มีพระมหาเถระชื่อว่าอานนท์ และพระมหาเถรานุเถระติดตาม
เมื่อเสด็จมาบริเวณเมืองพะเยาผ่านมาทางดอยจอมทองนายช่างทองได้เห็นบุคลิกพุทธลักษณะก็เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธองค์ จึงได้มาถวายภัตตาหารเช้า (จังหัน) แด่พระพุทธองค์แต่ไม่ได้ถวายน้ำแด่พระพุทธองค์
โดยมีนัยว่า ด้วยพระเมตตาของพระพุทธองค์ที่จะทรงสั่งสอนพญานาคราช ด้วยบุญของพญานาคเองที่จะได้ร่วมสร้างพระพุทธศาสนา และด้วยเหตุแห่งการจะประดิษฐานพระศาสนาให้ถาวร
ลำดับนั้น พระพุทธองค์จึงสั่งให้พระเถระชื่อว่าอานนท์ให้ไปตักน้ำ ณ หนองน้ำใกล้ดอยจอมทอง เมื่อพระอานนท์เดินลงไปตักน้ำบริเวณหนองน้ำดังกล่าวปรากฏว่า พญานาคไม่ยอมให้น้ำแสดงอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ พระเถระอานนท์จึงนำเรื่องดังกล่าวมากราบทูลพระพุทธเจ้าและพระองค์ก็ทรงเสด็จลงไปปราบพญานาคราช โดยการเนรมิตพระวรกายให้ใหญ่โตขนาด ๓๒ ศอก เหยียบหัวพญานาคราชไว้
พญานาคราชเมื่อถูกพระพุทธองค์ทรงข่มด้วยอาการดังกล่าวก็หมดพยศนิ่งอยู่
พระพุทธองค์ทรงใคร่ครวญดูว่านายช่างทองถวายข้าวให้เราแต่ไม่ถวายน้ำ,พญานาคราชไม่ให้น้ำ เป็นเพราะเหตุอะไรหนอแล! พระองค์ทรงเล็งเห็นเหตุการณ์ทั้งในส่วนอดีต – ปัจจุบัน และอนาคตทรงเรียกพระเถระมาตรัสว่า อานนท์ตำบลแห่งนี้เป็นสุสานแห่งตถาคต ครั้งเมื่อตถาคตเป็นพญานกเอี้ยงโพธิสัตว์ได้ถูกเหยี่ยวจิกตีกินเป็นอาหารอยู่ ณ หนองน้ำนี้หนองน้ำนั้นจึงชื่อว่า หนองเอี้ยงมาจนถึงทุกวันนี้

เรื่องที่ ๒

“....มีเรื่องเล่าพิสดารอยู่ในพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน”(พิมพ์อยู่ในหนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๑) ว่า

ครั้งนั้น พระยาร่วงคิดถึงพญางำเมืองผู้เป็นเกลออยู่เมืองพะเยา ก็เสด็จออกจากเมืองสุโขทัยไปเยี่ยมเยือน ครั้นถึงเมืองพะเยาก็สนทนากันด้วยถ้อยคำต่าง ๆ ครั้นพระร่วงแลเห็นนางเทวี ของพญางำเมืองมีรูปร่าง งดงามบริสุทธิ์ดุจดั่งนางเทพธิดาก็มีความปรารถนา

คืนหนึ่ง พระยาร่วงก็แต่งตัวให้เหมือนพญางำเมือง แล้วเข้าไปถึงที่นอนของนางเทวี ได้ลักลอบทำสมพาสด้วย ฝ่ายนางเทวีไม่รู้ด้วยคิดว่าเป็นพญางำเมืองก็นิ่งเสีย

ครั้นพระยาร่วงกระทำกามคุณแล้ว ก็รีบออกจากห้องนางเทวีไป มิช้านานต่อมาพญางำเมืองก็เข้าไปหาตามปกติ นางเทวีก็ว่าคืนนี้ดูแปลกประหลาดนักพระองค์เข้าห้องหม่อมฉัน ๒ ครั้ง พญางำเมืองพิจารณาดูก็เข้าใจได้ว่า นอกจากพระยาร่วงแล้วไม่มีใครจะแปลกปลอมมาได้ พระยาร่วงคิดกบฏต่อกูแล้ว

ครั้นรุ่งเช้าพญางำเมืองก็เรียกรี้พลสุรเสนามาประชุม เพื่อจะจับเอาพระร่วงให้ได้

ฝ่ายพระยาร่วงรู้ได้ว่าจะถูกล้อมจัด ก็จำแลงเพศเป็นนกเอี้ยงบินหนีไปพญางำเมืองจึงตั้งอธิษฐานแล้วเสกมนต์ไป นกเอี้ยงแปลงอ่อนกำลังก็ตกลงในหนองน้ำแห่งหนึ่ง หนองน้ำนั้นจึงได้ชื่อว่า “หนองเอี้ยง...”[1]

เราจะเห็นว่า เนื้อความตอนท้ายเรื่องจะเหมือนกับชื่อบ้านนามเมืองซึ่งสันนิษฐานว่า คนโบราณต้องการสร้างองค์ความรู้ขึ้นมา เพื่อจะให้เชื่อมโยงถึงชื่อบ้านต่าง ๆ โดยอาศัยการเล่าจากปากต่อปาก ซึ่งเป็นการสร้างความบันเทิงให้เกิดขึ้น

ในความเป็นจริงกว๊านพะเยาถือกำเนิดขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๔ เพราะก่อนหน้านี้บริเวณกว๊านพะเยา เป็นเพียงแค่ลุ่มริมน้ำแม่อิง มีลักษณะเป็นบวกหนองขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้างในหลายแห่ง โดยมีลำรางน้ำเป็นสาย ๆ เชื่อมติดต่อถึงกัน

จากข้อสรุปรายงานเบื้องต้นโครงการศึกษาและจัดทำแผนการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกว๊านพะเยา ซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๕ ในหนังสือประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมเมืองพะเยาว่า

“นายเต่า กัลยา เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอเมืองพะเยา (ในขณะนั้น) ได้สำรวจเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๖๒ แล้วบันทึกว่าหนองกว๊านอยู่ในเขตตำบลเวียง อำเภอเมืองพะเยา อยู่ห่างจากแม่น้ำอิง ๒๕ เส้นกว้าง ๕๐ เส้น ยาว ๕๐ เส้น ระดับน้ำตามปกติในเดือนกันยายนตามปกติโดยรอบน้ำท่วมลึกประมาณ ๑ ศอก ตอนกลางน้ำลึก ๑ วา ๓ ศอก บริเวณโดยรอบเป็นป่าไผ่และไม้กระยาเลย อยู่ห่างจากหมู่บ้านในเวียงประมาณ ๘ เส้นเมื่อแบ่งกว๊านออกเป็น ๔ ส่วน ก็จะได้ส่วนละ ๒๕ เส้น บริเวณหนองกว๊านมี ๒ ตอน เรียกว่า กว๊านน้อย กับ กว๊านหลวง”[2]

ส่วนหลังปี พ.ศ. ๒๔๘๔ คือระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ – ๒๔๘๔ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงได้สร้างทำนบและประตูน้ำกั้นขวางน้ำแม่อิง บริเวณส่วนที่ไหลออก จากหนองกว๊านทางด้านตะวันออกเฉียงใต้

หลังจากสร้างทำนบนี้เอง จากหนอกนำตามธรรมชาติก็เปลี่ยนมาเป็นสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ หรือที่เรารู้จักกันในนามทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับ ๓ จากหนองหาน จังหวัดสกลนคร และบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์

ระดับน้ำค่อย ๆ สูงขึ้นท่วมพื้นที่นาไร่สวนของชาวบ้านผู้คนที่ปลูกบ้านเรือนอยู่ในบริเวณดังกล่าว ก็อพยพหนีน้ำท่วมขึ้นไป ดังที่เห็นในสภาพปัจจุบัน

ปัจจุบันมีผลสำรวจลำน้ำต่าง ๆ ที่ไหลลงสู่กว๊านพะเยามีทั้งหมด ๑๒ ลุ่มน้ำ คือ

๑. ลุ่มน้ำห้วยแม่ปืม ๒. ลุ่มน้ำห้วยแม่เหยี่ยน ๓. ลุ่มน้ำห้วยแม่ตุ้ม ๔. ลุ่มน้ำห้วยแม่ต๊ำ ๕. ลุ่มน้ำห้วยแม่ต๋อม ๖. ลุ่มน้ำห้วยแม่ตุ่น ๗. ลุ่มน้ำห้วยแม่นาเรือ ๘. ลุ่มน้ำห้วยแม่ต๋ำ ๙. ลุ่มน้ำห้วยแม่ใส ๑๐. ลุ่มน้ำห้วยแม่ร่องขุย ๑๑. ลุ่มน้ำห้วยแม่ร่องปอ ๑๒.ลุ่มน้ำแม่อิง

ดังนั้นเราจะเห็นว่ากว๊านพะเยา,หนองเอี้ยง,น้ำแม่อิง เป็นสายน้ำที่มีความเกี่ยวโยงกันมาตลอด จนแทบจะกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ปัจจุบันบริเวณพื้นที่เฉลี่ยกว๊านพะเยามีประมาณ ๑๗ – ๑๘ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๒,๔๓๑ ไร่






[1] ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็น พระธรรมวิมลโมลี : ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมเมืองพะเยา หน้า ๕๙๗ – ๕๙๘
[2] เรื่องเดียวกัน หน้า ๕๙๘ – ๕๙๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น