วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พระนางศุภยาลัต


พระนางศุภยาลัต


พระนางศุภยาลัต (พม่า :စုဖုရားလတ်) ประสูติ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2402 สิ้นพระชนม์ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระราชินีองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์อลองพญา ประสูติแด่พระเจ้ามินดง กับพระนางชินพยูมาชิน (Hsinbyumashin ; นางพญาช้างขาว หรือที่รู้จักกันในนามพระนางอเลนันดอ) ด้วยความทะเยอทะยานของพระนางศุภยาลัต พระองค์จึงได้เป็นพระราชินีในพระเจ้าธีบอกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งพม่า

Supayalat.jpg

พระประวัติ

พระนางศุภยลัต เป็นราชบุตรีของพระเจ้ามินดง กับมเหสีรองคือพระนางอเลนันดอ พระองค์มีพระนามจริงว่า ศรีสุริยประภารัตนเทวี (Sri Suriya Prabha Ratna Devi) พระนางศุภยาลัตมีพระเชษฐภคินีคือ พระนางศุภยาคยี และมีพระขนิษฐาคือเจ้าหญิงศุภยากเล อุปนิสัยของพระนางศุภยลัตมีลักษณะเหมือนพระราชมารดา คือ มีความทะเยอทะยาน เจ้ากลอุบาย ใจร้าย ขี้หึง เชื้อสายดั้งเดิมเป็นสามัญชน เนื่องจากยายของพระนางเป็นแม่ค้าขายของในตลาดมาก่อน โดยพระเจ้าบาจีดอ (พระเจ้าจักกายแมง) รับเอามาเป็นนางสนมตั้งแต่ครั้งพระเจ้าบาจีดอยังดำรงพระยศเป็นเจ้าชาย
พระเจ้ามินดง พระราชบิดาของพระนาง มีเจ้าฟ้านยองยาน กับเจ้าฟ้านยองโอ๊กที่พอจะมีความสามารถขึ้นครองราชย์ เพราะทั้งสองพระองค์เรียนจบโรงเรียนฝรั่ง มีความฉลาดและเข้มแข็งพอสมควร แต่พระนางอเลนันดอและขุนนางเห็นว่าจะคุมได้ยาก จึงเลือกเจ้าชายสีป่อที่อ่อนแอกว่า โดยบวชเป็นพระมาตลอด นิสัยเชื่องช้า หัวอ่อน และพระเจ้ามินดงเองก็เกรงพระทัยมเหสีรอง จึงไม่ได้ตั้งเจ้าฟ้าพระองค์ใดเป็นรัชทายาทโดยเด็ดขาด

การยึดอำนาจ

เมื่อพระเจ้ามินดงทรงพระประชวรหนัก พระนางอเลนันดอจึงเรียกพวกเสนาบดีประชุมในที่รโหฐานและประกาศตั้งเจ้าฟ้าสีป่อเป็นรัชทายาท ไล่จับกุมบรรดาเจ้าฟ้าและขุนนางในฝ่ายอื่นๆที่ไม่ใช่ของตัวเองใส่คุกไปมากมาย ต่อมาเมื่อพระเจ้ามินดงสวรรคตแล้ว ก็ให้เจ้าฟ้าสีป่อขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงพม่า พอขึ้นครองราชย์ได้พระมเหสีและมารดากับกลุ่มขุนนางก็จัดการสังหารบรรดาพี่น้องตัวเอง และบริวารรวมกันถึงราว 500 กว่าคน เจ้าชายองค์ใดถูกปลงพระชนม์ เจ้าจอมมารดา พระญาติและบรรดาลูกๆ รวมทั้งเจ้าน้ององค์หญิงเจ้าชายองค์นั้น ซึ่งมีทั้งผู้เฒ่าชราและแม้แต่เด็กจนถึงทารกไร้เดียงสาก็ถูกสังหารจนสิ้นด้วยสารพัดวิธีอันหฤโหด ขุนนางที่เคยรับใช้หรือญาติทางฝ่ายจอมมารดาก็จับฆ่าเสียสิ้นเหมือนกัน ด้วยพิธีที่พิสดาร และตามแต่เพชฌฆาตจะเห็นสนุก
การสังหารหมู่ดังกล่าวใช้เวลาอยู่สามวันจึงสังหารได้หมดเพราะต้องฆ่าที่วังแต่เวลากลางคืน เพื่อไม่ให้พวกชาวเมืองรู้ ที่เลือดเย็นกว่านั้นคือ พระนางศุภยาลัตทรงให้จัดงานปอยตลอดสามวันนั้น ให้ชาวเมืองเที่ยวงานให้สนุก พระเจ้าธีบอก็จัดให้ดื่มน้ำจัณฑ์จนเมามายเพื่อไม่ให้สนใจการสังหารครั้งนั้น เมื่อสังหารแล้วก็จับโยนใส่หลุมใหญ่ข้างวังรวมกัน แล้วเอาดินกลบ แต่พอพ้นสามวัน ศพเหล่านั้นเริ่มขึ้นอืดจนเนินหลุมที่ฝังพูนขึ้น ก็เอาช้างหลวงมาเหยียบย่ำให้ดินที่นูนขึ้นมานั้นแบนราบลง แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถปิดบังหลุมใหญ่นั้นได้ เพราะจำนวนศพมีมากจนดันเนินดินให้นูนขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สุดท้ายก็ต้องให้ขุดศพใส่เกวียนไปฝังบ้าง ทิ้งน้ำบ้าง[2] จนเป็นเรื่องที่มีการเล่าขานมากที่สุดคือการสำเร็จโทษเหล่าพระบรมวงศ์สานุวงศ์น้อยใหญ่ เป็นเวลา 3 คืน เล่ากันว่าคืนนั้นสุนัขเห่าหอนทั้งคืน จนชาวเมืองผวาไม่เป็นอันหลับอันนอน พระนางจัดให้เอาวงดนตรีปี่พาทย์ การแสดงต่าง ๆ มาบรรเลงในวังตลอดเวลาที่ทำการสำเร็จโทษพวกเจ้านาย เพื่อให้เสียงดนตรีปี่กลองกลบเสียงกรีดร้องขอชีวิต หากดังไม่พอ เสียงฮาจะช่วยได้มาก พระนางตรัสให้คนร้องร้องดังขึ้น เล่นตลกให้ดังขึ้น และพระสรวลดังๆ แต่บางครั้งมีเสียงหวีดมาแต่ไกล พระเจ้าสีป่อจึงหันไปทางต้นเสียง พระนางศุภยาลัตก็หันมาถลึงพระเนตรกับปี่พาทย์ ส่วนนางพนักงานก็รินน้ำจัณฑ์ใส่ถ้วยทองถวายถึงพระหัตถ์พระเจ้าสีป่อ[3] แต่ขณะเดียวกันในประวัติศาสตร์พม่านั้นเชื่อว่าพระนางอเลนันดอ และเกงหวุ่นเมงจีอยู่เบื้องหลังการสั่งฆ่าโอรสธิดา

การสูญสิ้นอำนาจ

พระนางศุภยาลัต และแตงดาวุ่นกี้ไม่พอใจที่อังกฤษให้ค่าสัมปทานป่าไม้น้อย และฝรั่งเศสทำท่าจะเข้ามาเสนอให้มากกว่าประกอบกับมีการกล่าวหาว่าอังกฤษลอบตัดไม้เกินกว่าที่ได้รับสัมปทาน พม่าเลยสั่งปรับอย่างหนักถึง 1 ล้านรูปี อังกฤษก็ไม่พอใจยื่นประท้วง แต่พม่าไม่ยอม ตอนนั้นพระนางศุภยาลัตคิดว่าตัวเองมีฝรั่งเศสหนุนหลัง แต่ต่อมาเกิดเรื่องเข้าจริงๆ ฝรั่งเศสก็วางตัวเป็นกลาง
วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2428 อังกฤษก็เริ่มส่งข้อเรียกร้องขั้นเด็ดขาด และพม่ายอมไม่ได้ เช่น ให้อังกฤษเป็นคนควบคุมนโยบายการค้าการเดินเรือของพม่าทั้งหมดฯลฯ มิฉะนั้นจะรบกับพม่า ซึ่งขณะนั้นอังกฤษได้ยึดพม่าได้ทางใต้ได้แล้วจากสนธิสัญญายันดาโบ
พระนางศุภยาลัตประกาศรบอังกฤษด้วยความหยิ่งยะโสโอหังว่าพม่านั้นเป็นชาติมหาอำนาจในเอเชียอาคเนย์ เคยชนะมาแล้วแม้แต่จีน หลงละเมอเพ้อพกอยู่กับอดีตอันยิ่งใหญ่ของพม่า โดยไม่เคยสนใจความก้าวหน้าของโลก โดยเฉพาะประเทศอภิมหาอำนาจแห่งยุคนั้นอย่างอังกฤษที่มีอาณานิคมทั่วโลกและเข้มแข็งทางการทหารอย่างยิ่ง
พระเจ้าธีบอตามพระทัยมเหสีจึงสั่งให้เตรียมพลไปรบ อังกฤษก็ให้นายพลแฮร์รี เพนเดอร์กาส นำทหารทั้งฝรั่งและอินเดียเคลื่อนพลเข้ารบ จากย่างกุ้งบุกไปตามลำน้ำอิรวดีถึงมัณฑะเลย์อย่างสบาย ใช้เวลาแค่ 14 วันก็ยึดเมืองหลวงได้ นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า นอกเหนือจากอาวุธที่ดีกว่าอย่างเทียบไม่ติด แต่เหตุผลสำคัญที่สุดคือราษฎรไม่คิดจะต่อสู้เพราะไม่รู้จะสู้ไปเพื่ออะไร เนื่องจากรัฐบาลของพระเจ้าธีบอโดยพระนางศุภยาลัต กดขี่พวกเขามาตลอด บ้านเมืองจึงขาดความสามัคคีขนาดหนัก เนื่องจากกษัตริย์และมเหสีไม่เคยทำตนให้เป็นที่รักของประชาชนพม่าของพระองค์เอง พระเจ้าธีบอ และพระนางศุภยาลัตจึงถูกเชิญให้ไปยังเมืองรัตนคีรี ซึ่งเป็นการสิ้นสุดเอกราชของพม่า และการปกครองโดยราชวงศ์อลองพญาที่มีอย่างยาวนาน
 

ถูกเชิญออกนอกประเทศ


ขณะที่พระเจ้าธีบอ และพระนางศุภยาลัตถูกเชิญออกนอกประเทศเชิงกักกันที่เมืองมัทราสราว 2-3 เดือน ภายหลังจึงส่งไปประทับถาวรที่เมืองรัตนคีรีเมืองเล็กๆทางชายฝั่งทะเล ทางใต้เมืองบอมเบย์[5] (มุมไบในปัจจุบัน) แม้พระนางศุภยลัตถูกเนรเทศอยู่พระนางยังยังทำยศเป็นราชินีอยู่อีก ใครจะมาหาต้องคุกเข่าคลาน ไม่ยอมไปไหนเพราะไม่มีวอ ประสูติพระราชธิดายังต้องมีถาดทองรองรับ เจ้ายศเจ้าอย่างจนพวกที่ตามไปด้วยจากพม่าทนไม่ไหวหนีกลับพม่าหมด ในที่สุดก็เกิดทะเลาะกับพระนางอเลนันดอผู้เป็นแม่ จนพระนางอเลนันดอต้องขอกลับพม่า อังกฤษก็ยอมให้กลับคุมตัวไว้ที่ เมืองเมาะลำเลิงจนสิ้นพระชนม์ พระเจ้าธีบอกับพระนางศุภยลัตถูกเนรเทศอยู่ที่อินเดียนาน 31 ปี จนพระเจ้าธีบอจึงสิ้นพระชนม์ที่เมืองรัตนคีรีนั่นเอง พระนางจึงได้รับอนุญาตให้พาลูกสาวไปอยู่ร่างกุ้ง ส่วนพระศพพระเจ้าธีบอนั้นฝังไว้ที่อินเดีย

คืนสู่พม่า

ต่อมา พระนางได้กลับมาสู่พม่าที่เมืองย่างกุ้ง ขณะอยู่ที่เมืองย่างกุ้งก็ยังทำยศทำศักดิ์ไม่ยอมคบหาสมาคมกับใคร ใครไปหาต้องหมอบกราบ ทรงเคียดแค้นขุนนางพม่าที่ไปเข้ากับอังกฤษ ตรัสบริภาษอยู่เป็นประจำ มีฝรั่งเขียนเกี่ยวกับพระนางไว้ว่า เมื่อพระนางแก่ตัวเข้าและรู้สำนึกในชีวิตแล้ว ทรงสงบเสงี่ยม สุภาพ น่าสงสาร ทรงเลี้ยงสุนัขเป็นเพื่อน และเสียพระทันต์ทั้งหมด[6] พระนางอยู่ในตำหนักที่อังกฤษจัดถวายให้ในเมืองย่างกุ้ง 10 ปี จึงสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนพ.ศ. 2468 ขณะพระชนมายุ 65 พรรษา การจัดการพระศพก็เป็นไปตามยถากรรม ไม่ได้มีพิธีรีตองมากมายไม่ต่างจากคนทั่วไป ไม่เหลือเค้าโครงใดๆให้เห็นว่าครั้งหนึ่งนางเคยเป็นพระราชินีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของพม่า ปัจจุบันยังมีที่ฝังพระศพอยู่ในย่างกุ้ง[7] โดยรัฐบาลอังกฤษจัดการพระศพให้ตามธรรมเนียม แต่ไม่อนุญาตให้เชิญพระศพขึ้นไปที่ราชธานีกรุงมัณฑะเลย์ คงอนุญาตเพียงแต่ทำเป็นมณฑปบรรจุพระอัฐิเท่านั้น ปัจจุบันนี้อยู่ที่ถนนเจดีย์ชเวดากอง (Shwe Dagon Pagoda Rd.) ห่างจากบันไดด้านทิศใต้ของพระเจดีย์ชเวดากองมาประมาณ 200 เมตร สร้างเป็นกู่ทรงมณฑปยอดปราสาทแบบพม่า ก่ออิฐฉาบปูนขาว รูปทรงคล้ายที่ฝังพระศพของพระเจ้ามินดงในกรุงมัณฑะเลย์ ที่ฐานล่างมีแผ่นจารึกแผ่นเล็กของตอปยากะเล (Taw Payar Kalay) หรือออง ซาย (Aung Zay) ซึ่งเป็นพระราชนัดดาองค์สุดท้ายของพระเจ้าสีป่อ ที่เสียชีวิตเมื่อ ค.ศ. 2006 และนำอัฐิมาฝังไว้ในกู่เดียวกับพระนางศุภยาลัต โดยพระนางมีศักดิ์เป็น "พระอัยยิกา" ของนัดดาองค์นี้[8]

อ้างอิง

  1. ^ Christopher Buyers. "The Konbaung Dynasty Genealogy". royalark.nethttp://www.royalark.net/Burma/konbau11.htm. เรียกข้อมูลเมื่อ 2009-09-26.
  2. ^ พม่าเสียเมืองก็เพราะกษัตริย์อ่อนแอและมเหสีหฤโหด
  3. ^ บุญยงค์ เกศเกศ. อรุณรุ่งฟ้า"ฉาน"เล่าตำนานคน"ไท". กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์หลักพิมพ์, 2548. หน้า 69
  4. ^ พม่าเสียเมือง ฉบับ"คนพม่า"บันทึก
  5. ^ บุญยงค์ เกศเทศ. อรุณรุ่งฟ้า"ฉาน"เล่าตำนานคน"ไท". หน้าที่ 55
  6. ^ มาดูรูปพิธีกรรมสำเร็จโทษเจ้านายในพม่ากัน จากเว็บพันทิป
  7. ^ ชวนกันเป็นชาวคติชน : อยากทราบประวัติของพระนางศุภยลัตค่ะ
  8. ^ (.....ราชสุสาน ณ นครย่างกุ้ง.....)
  • คึกฤทธิ์ ปราโมช. พม่าเสียเมือง.
  • สาส์นสมเด็จ เล่ม 9 พ.ศ. 2479 (เมษายน - กันยายน) พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2543 (รักษาตัวสะกดเดิม)
  • ลายพระหัตถ์สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถึง สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า วินิจฉัยกรรมเมืองพะม่า (ท่อนที่ 1) หน้า 335 - 341 และเล่าเรื่องเมืองพะม่า วินิจฉัยกรรมเมืองพะม่า (ท่อนที่ 27) หน้า 355-359


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น